สวนหลวง ร.9
สวนหลวง ร.9 เป็นสวนสาธารณะและสวนพฤกษศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร
สวนหลวง ร.๙ เกิดจากความร่วมมือของกลุ่มบุคคลและส่วนราชการช่วยกันดำเนินการ โดยช่วยกันบริจาคทุนทรัพย์จากประชาชนชาวไทยจนสามารถสร้างเป็นสวนขนาดใหญ่ เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเนื่องในศุภมงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ ในวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐ โดยมีวัตถุประสงค์ ให้สวนหลวง ร.๙ เป็นสถานที่ส่งเสริมวิชาการทางด้านพฤกษศาสตร์ โดยปลูกรวบรวมพรรณไม้ชนิดต่างๆ เพื่อการศึกษาวิจัยและเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ รวมทั้งปลูกฝังทัศนคติการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดสวนหลวง ร.๙ เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐
ตั้งอยู่ที่ถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ประมาณ ๕๐๐ ไร่ มูลนิธิสวนหลวง ร.๙ เป็นฝ่ายสนับสนุนกิจการ โดยมีคณะกรรมการมูลนิธิสวนหลวง ร.๙ คณะกรรมการบริหารสวนหลวง ร.๙ และกรุงเทพมหานคร ร่วมดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้
ปัจจุบันภายในสวนหลวง ร.๙ แบ่งพื้นที่ออกเป็น ๓ ส่วน คือ
๑.สถานรัชมงคล ประกอบด้วย
อุทยานมหาราช เป็นสวนราชพฤกษ์ และสระน้ำพุขนาดใหญ่ ๓ สระ ตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ประดับอย่างสวยงาม
หอรัชมงคล ลักษณะอาคารเป็นศิลปะไทยประยุกต์ สมัยรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ ๙ รูปเก้าเหลี่ยมด้านเท่า เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖๓ เมตร สูง ๕๓ เมตร ประดับหลังคาด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลืองทองอันเป็นสีวันพระราชสมภพ ภายในมี ๙ ห้อง เป็นกระจกโดยรอบ เพื่อให้สามารถชมได้จากภายนอก หอรัชมงคลนี้เป็นสถานที่รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ และสิ่งของในพระองค์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้นำมาจัดแสดง บริเวณศูนย์กลางของอาคารเป็นหอประชุมขนาดความจุประมาณ ๕๐๐ คน
สวนนานาชาติ ซึ่งเป็นสวนที่จัดแสดงลักษณะสวนของประเทศต่างๆคือ
สวนจีน สวนญี่ปุ่น เป็นตัวแทนของสวนจากโลกภาคตะวันออก
สวนสเปน สวนอังกฤษ สวนฝรั่งเศส และสวนอิตาลี เป็นตัวแทนของสวนจากโลกภาคตะวันตก นอกจากนี้รัฐบาลประเทศสหรัฐอเมริกายังสร้างจิโอเดสิคโดม ซึ่งเป็นอาคารแสดงพรรณไม้ทนแล้ง ให้เป็นส่วนหนึ่งของสวนนานาชาติอีกด้วย
สวนรมณีย์ มีพื้นที่ประมาณ ๕๐ ไร่ เป็นสวนที่จัดตกแต่งภูมิทัศน์เลียนแบบธรรมชาติของท้องถิ่นที่สวยงาม โดยได้นำหินธรรมชาติจากหลายภาคของประเทศมาจัดวางให้เป็นป่าเขา พร้อมกับนำพรรณไม้จากป่าต่างๆ มาปลูกให้ดูผสมกลมกลืนกันเป็นธรรมชาติ เหมือนกับได้จำลองป่าเขา น้ำตก ลำธาร มาไว้ใจกลางเมือง บรมราชินีนาถบุปผาลัย ประติมากรรมเฉลิมพระเกียรติ ประดับด้วยภาพพิมพ์ที่จำลองพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๙ ไว้ทั้งสองด้าน
ศาลาพุฒ-จันทน์ เป็นศาลาไม้สักทอง มีสวนพรรณไม้หอมรอบบริเวณนี้
อาคารสำนักงานสวนสาธารณะสวนหลวง ร.๙ เป็นที่ทำงานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งทำหน้าที่ดูแล จัดปลูกและทำนุบำรุงรักษา ตลอดจนดูแลสถานที่ต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ในการสร้างสวนแห่งนี้ อาคารถกลพระเกียรติ เป็นสถานที่สำหรับจัดเลี้ยงต่างๆ จัดประชุมสัมมนา จุได้ประมาณ ๑๐๐ คน
๒. สวนกิจการประกอบด้วย
สวนน้ำ พื้นที่ประมาณ ๔๐ ไร่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริให้จัดทำ “สวนน้ำ” ในบริเวณสวนหลวง ร.๙ เพื่อเป็นการจำลองให้คล้ายกับ “พรุ” ตามสภาพธรรมชาติ เพื่อการศึกษาสัตว์น้ำ ตลอดจนพรรณไม้น้ำที่อยู่ในสวน และเพื่อความรื่นรมย์แก่ผู้มาชมสวนนี้
สนามราษฎร์และศูนย์กีฬา พื้นที่ประมาณ ๗๐ ไร่ ประกอบด้วยสนามกว้างใหญ่ และสังคีตศาลาซึ่งเป็นเวทีแสดงกลางแจ้งสำหรับใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการจัดตลาดนัดต้นไม้ในงานพรรณไม้งามอร่ามสวนหลวง ร.๙ ช่วงต้นเดือนธันวาคมของทุกปี ส่วนบริเวณศูนย์กีฬา ประกอบด้วยสระว่ายน้ำ สนามเทนนิส สำหรับบริการประชาชนทั่วไป
กระโจมแตร เป็นศาลาลักษณะแบบเรอเนซองส์ ซี่งเน้นความมีสมมาตร ความได้สัดส่วน การใช้รูปทรงเรขาคณิต และลักษณะที่ปรากฏในสถาปัตยกรรมคลาสสิกอันโดดเด่น
สวนไม้ผลเมืองร้อน ไม้ผลเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ การจัดทำสวนไม้ผลเมืองร้อนมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมพันธุ์ไม้ผลที่ขึ้นอยู่ในเขตร้อนมากกว่า ๕๐ ชนิด และเพื่อให้ผู้สนใจทั่วไปได้มาศึกษาลักษณะของต้นไม้ผลที่สำคัญ
สวนกล้วย กล้วยเป็นไม้ล้มลุก อายุหลายปี จัดอยู่ในวงศ์กล้วย (Musaceae) มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิยมปลูกกันทั่วไปเพื่อใช้รับประทานผลเป็นส่วนใหญ่ แต่มีกล้วยหลายชนิดหลายพันธุ์ที่มีความสวยงามสามารถนำมาปลูกเป็นไม้ประดับได้ สวนนี้ได้รวบรวมพันธุ์กล้วยไว้ประมาณ ๕๐ พันธุ์ อยู่บริเวณใกล้กับสวนไม้ผลเมืองร้อน
สวนกำแพงหิน จัดปลูกพรรณไม้ดอกนานาชนิดตามซอกหิน โดยส่วนใหญ่จะเป็นไม้พุ่มที่มีดอกสวยงามสลับกับไม้ดอกล้มลุกที่ปลูกผลัดเปลี่ยนตลอดทั้งปี
๓. ลานพฤกษพรรณ
เป็นบริเวณของสวนพฤกษศาสตร์ พื้นที่ ๑๕๐ ไร่ รวบรวมพรรณไม้ชนิดต่างๆ ที่จัดปลูกตามหลักอนุกรมวิธานและนิเวศวิทยา เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา การอนุรักษ์และการค้นคว้าวิจัย มีป้ายชื่อวิทยาศาสตร์เพื่อบอกชนิดและหมวดหมู่ของพรรณไม้ สวนนี้รวบรวมพรรณไม้ไว้ประมาณ 200 วงศ์ จำนวนประมาณ 3300 ชนิด ประกอบด้วย
หอพฤกษศาสตร์ เป็นอาคารที่ประกอบด้วยห้องพิพิธภัณฑ์พืชที่เก็บรวบรวมตัวอย่างพรรณไม้แห้ง พรรณไม้ดอง และตัวอย่างส่วนต่างๆ ของพรรณไม้จัดแสดงไว้เป็นหมวดหมู่เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ รวมทั้งบริการและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านพรรณพืช นอกจากนี้ยังมีห้องสมุดทางด้านพฤกษศาสตร์ และที่ทำงานของเจ้าหน้าที่และนักวิชาการทางด้านพฤกษศาสตร์
สวนมไหสวรรย์ไม้ดัดไทย เป็นสวนไม้ดัดและเขามอ เป็นศิลปะของไทยที่มีการผสมผสานกันให้เกิดความงดงาม มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย โดยนำไม้ธรรมชาติมาประดิษฐ์ตัดแต่งพลิกแพลงให้สวยงาม พรรณไม้ที่นำมาทำไม้ดัด เช่น ตะโก ข่อย มะขาม โมก จัดแสดงอยู่บริเวณหน้าหอพฤกษศาสตร์
สวนกล หรือเขาวงกตที่ปลูกต้นข่อย (Streblus asper Lour.) ตัดแต่งให้มีลักษณะเป็นกำแพง และมีแนวทางเดิน ทำเป็นเส้นทางที่ซับซ้อนหลายทางที่เชื่อมโยงไปมา เป็นสวนที่จัดไว้เพื่อความสนุกสนานและความตื่นเต้นในการหาทางออกที่เป็นปลายทางให้เร็วที่สุด ในระยะทางที่สั้นที่สุด
เรือนเฟินและกล้วยไม้ เป็นโรงเรือนสำหรับปลูกเฟินและกล้วยไม้ มีทั้งเฟินพื้นบ้าน เฟินที่หายาก และเฟินต่างประเทศที่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ รวมมากกว่า ๑๐๐ ชนิด ส่วนของกล้วยไม้ได้รวบรวมความหลากหลายของพันธุ์พื้นเมืองและพันธุ์ลูกผสมต่างๆ ประมาณ ๓๐๐ ชนิด เช่น สกุลเอื้องผึ้ง-เอื้องคำ สกุลสิงโต สกุลช้าง และว่านเพชรหึง เป็นต้น
สวนสมุนไพรเฉลิมพระเกียรติฯ ได้จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๕ รอบ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ และได้เสด็จฯมาทรงทำพิธีเปิด เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๘ มีพื้นที่ประมาณ ๖ ไร่เศษ พืชสมุนไพรที่ปลูกรวบรวมไว้มีประมาณ ๙๒ วงศ์ ๒๗๕ สกุล จำนวนทั้งหมดไม่ต่ำกว่า ๔๐๐ ชนิด โดยปลูกเป็นกลุ่ม เช่น กลุ่มพืชสมุนไพรตามคุณสมบัติในการรักษาโรค และกลุ่มพืชถอนพิษ เป็นต้น
พืชวงศ์หญ้า หญ้าหลายชนิดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง และอ้อย นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น เป็นพืชสมุนไพร เป็นวัตถุดิบสำหรับการจักสาน บางชนิดยังใช้ในด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น ตะไคร้หอม เดือย และหญ้าแฝก เป็นต้น ในสวนนี้ปลูกรวบรวมหญ้าไว้ประมาณ ๔๐ ชนิด
สวนบัวเบญจพรรณ รวบรวมพันธุ์บัวหลวงและบัวสายไว้ประมาณ ๒๐๐ สายพันธุ์ ทั้งสายพันธุ์ต่างประเทศ ในประเทศ และบัวลูกผสมที่ได้รับรางวัลจากสมาคมบัวนานาชาติ ซึ่งสมาคมได้มอบพันธุ์บัวไว้ให้สวนเพื่อการรวบรวมพันธุ์และจัดแสดงให้เห็นถึงความสวยงามและความสามารถของนักผสมพันธุ์บัวไทย
อาคารจิโอเดสิคโดม เป็นอาคารสำหรับปลูกพรรณไม้ทนแล้ง ลักษณะอาคารเป็นรูปโดมทรงเกือบกลมคล้ายลูกโลก หลังคาทำด้วยวัสดุรูปสามเหลี่ยมด้านเท่าเชื่อมต่อกันเป็นรูปครึ่งวงกลม ลักษณะเป็นโดมขนาดใหญ่ที่ไม่มีเสาค้ำ ประเทศสหรัฐอเมริกาได้สร้างอาคารนี้มอบให้เป็นหนึ่งในสวนนานาชาติในสวนหลวง ร.๙ สำหรับปลูกพืชทนแล้งกลุ่มกระบองเพชรและพืชอวบน้ำชนิดต่าง ๆ รวบรวมไว้ประมาณ ๒๕ วงศ์ มากกว่า ๓๐๐ ชนิด
อาคารแสดงพรรณไม้ในร่ม เป็นโรงเรือนสำหรับปลูกพรรณไม้ที่ชอบอากาศชื้นและแสงรำไร มีหลังคาพรางแสง เปิดด้านข้างเพื่อระบายอากาศ และด้านบนมีระบบน้ำพ่นฝอย ช่วยกระจายความชุ่มชื้นภายในอาคาร มีพันธุ์ไม้พื้นเมือง พันธุ์ไม้หายาก และพันธุ์ไม้ป่าดิบชื้นประมาณ ๔๐ วงศ์ มากกว่า ๕๐๐ ชนิด
พลับพลายอด เป็นศาลากลางน้ำจำลองแบบมาจากพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ซึ่งเป็นพระที่นั่งปราสาทโถงกลางน้ำ สร้างในแบบจัตุรมุขที่พระราชวังบางประอิน บริเวณสระน้ำรอบพลับพลายอดปลูกบัวสุทธาสิโนบลที่มีดอกสีน้ำเงินมีกลิ่นหอม ริมสระโดยรอบปลูกพรรณไม้น้ำนานาชนิด จำนวน ๑๕ วงศ์ ประมาณ ๕๐ ชนิด
อาคารชายชล เป็นที่ตั้งของสำนักงานมูลนิธิสวนหลวง ร.๙ รวมทั้งเป็นที่ทำงานของคณะกรรมการบริหารสวนหลวง ร.๙ และมีร้านอาหารและเครื่องดื่ม ตั้งอยู่บริเวณริมตระพังแก้ว
มุมแมกโนเลีย เป็นส่วนที่ปลูกรวบรวมพรรณไม้วงศ์มณฑา (Magnoliaceae) ชนิดต่างๆ
ตระพังแก้ว พื้นที่ประมาณ ๔๐ ไร่ เป็นที่รองรับน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังในเขตชานเมืองด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ตามแนวพระราชดำริที่พระราชทานไว้แต่เดิม และยังใช้ประโยชน์เพื่อกิจกรรมทางน้ำ ริมฝั่งเป็นที่ตั้งของอาคารชายชล
สวนเชิงผา เป็นบริเวณที่จำลองสภาพนิเวศของภูเขาหินปูนโดยจัดปลูกพรรณไม้ประเภทที่มีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพพื้นที่ซึ่งเป็นหินและมีชั้นดินตื้นกักเก็บความชื้นได้น้อยและขาดความอุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วยไม้ล้มลุก ไม้พุ่มและไม้ต้นขนาดเล็ก เช่น จันทน์ผา ปรงเขา จั๋ง
ไม้ประจำจังหวัด ได้ปลูกรวบรวมพรรณไม้ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เป็นไม้ประจำจังหวัด ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเพื่อนำไปปลูกเป็นสิริมงคล ตามโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชย์สมบัติครบ ๕๐ ปี ที่ วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๓๗
เรือนเพาะชำ เป็นโรงเรือนสำหรับเพาะชำต้นกล้า ต้นอ่อน กิ่งตอนกิ่งชำ ไม้ล้มลุก ไม้พุ่มและไม้ดอกไม้ประดับต่างๆ เพื่อขยายพันธุ์สำหรบนำไปปลูกประดับในบริเวณต่างๆ ของสวน ประกอบด้วยพื้นที่ ๒ ส่วนคือ ส่วนเพาะชำไม้ดอก และส่วนเพาะชำไม้ใบ
สวนหลวง ร.๙ เป็นสวนที่ใช้เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจรวมทั้งการออกกำลังกายแล้ว ยังเป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่ประกอบไปด้วยต้นไม้นานาพรรณเกือบ ๓,๐๐๐ ชนิด มีทั้งไม้ต้น ไม้พุ่ม ไม้ล้มลุก ไม้ดอก ไม้ใบ ไม้ป่า และไม้นำเข้าจากต่างประเทศ นับว่าเป็นแหล่งเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ความเข้าใจและก่อให้เกิดความตระหนักถึงการอนุรักษ์ความหลากหลายของพรรณไม้ต่างๆ ให้กับเยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจทั่วไป นับว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตที่น่าเข้ามาศึกษาและเที่ยวชมแห่งหนึ่ง
สวนหลวง ร.๙ เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา ๐๕.๐๐-๑๙.๐๐ นาฬิกา โดยเก็บค่าผ่านประตูตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๗.๐๐ นาฬิกา สำหรับผู้ที่ต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะและต้องการเจ้าหน้าที่นำชม ติดต่อได้ที่สำนักงานมูลนิธิสวนหลวง ร.๙ ณ อาคารชายชล
ที่อยู่ : มูลนิธิสวนหลวง ร.๙ อาคารชายชล ถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.๙ แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพฯ ๑๐๒๕๐
เเขวง หนองบอน Prawet
Bangkok 10250