Amazing Thailand
Land of smiles

วัดพระนางสร้าง

วัดพระนางสร้างเป็นวัดประจำอำเภอถลาง นับเป็นวัดที่เก่าแก่วัดหนึ่งของจังหวัดภูเก็ต

วัดพระนามสร้าง  ตั้งอยู่เลขที่  148  บ้านตะเคียน  หมู่ที่  1  ตำบลเทพกษัตรีย์  อำเภอถลาง  จังหวัดภูเก็ต  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 19  ไร่  1 งาน  79  ตารางวา  ส.ค. 1  เลขที่ 149  อาณาเขต  ทิศเหนือยาว 4 เส้น 18 วา  ติดต่อกับคูถนนบ้านดอน  ทิศใต้ ยาว 5 เส้น  6 วา  ติดต่อกับที่นา  ทิศตะวันออกยาว 3 เส้น 15 วา  ติดต่อกับถนนเทพกษัตรีย์  ทิศตะวันตกยาว 3 เส้น 17 วา  ติดต่อกับคูและที่นา มีที่ธรณีสงฆ์  8  แปลง  เนื้อที่  84  ไร่ 1  งาน  21  ตารางวา


พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบมีบริเวณสวยงามใกล้ตลาดสดถลาง  มีโรงเรียนอยู่ในวัด  2  โรงเรียน  อาคารเสนาสนะต่าง ๆ มี  อุโบสถกว้าง  9.50 เมตร  ยาว  17.50 เมตร  เป็นอุโบสถหลังเก่าสร้างโดยใช้อิฐและปูนขาว  บูรณะมาหลายครั้ง  ส่วนอุโบสถหลังใหม่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง  ศาลาการเปรียญกว้าง  16 เมตร  ยาว 24 เมตร  สร้าง  พ.ศ.  2512  กุฏิสงฆ์จำนวน 3 หลัง  เป็นอาคารตึกและครึ่งตึกครึ่งไม้  นอกจากนี้มี  หอฉัน  หอระฆัง  และฌาปนสถาน  สำหรับปูชนียวัตถุมีพระประธานปางสมาธิจำนวน 3  องค์  ภายนอกหุ้มด้วยปูนขาว  พระเพลากว้าง 3 เมตร  ภายในองค์พระทั้งสาม  มีพระสมัยศรีวิชัยสร้างด้วยโลหะผสมอายุกว่า 1300 ปี  เข้าใจว่าพอกปูนขาวเพื่อซุกซ่อนข้าศึกไว้  ทางวัดเพิ่งจะทราบในปี  พ.ศ.  2526  นี้เอง  ด้านหลังพระประธานมีพระพุทธไสยาสน์ยาว 3.50 เมตร  เล่ากันว่ามีพระพุทธรูปทองคำอยู่ภายในองค์พระ  แต่ยังไม่มีการพิสูจน์


วัดพระนางสร้าง  สร้างขึ้นประมาณ  พ.ศ.  2301  ตามตำนานเล่ากันสืบมาว่า  มเหษีของกษัตริย์เมืองใดไม่ปรากฏแน่ชัด  ถูกกล่าวหาว่าเป็นชู้กับมหาดเล็กจะถูกประหารชีวิต  พระนางได้ขอผ่อนผันไปนมัสการพระบรมธาตุที่ศรีลังกาก่อน  เมื่อกลับมาได้แวะที่เกาะถลาง  และได้สร้างวัดขึ้นไว้แล้วเดินทางกลับ  โดยที่พระนางมีเลือดสีขาวจึงเรียกกันว่า  “พระนางเลือดขาว” และเรียกนามวัดว่า  “วัดพระนางสร้าง”  ชาวบ้านนิยมเรียกสั้น ๆ ว่า “วัดนาสร้าง”  ถือว่าได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี  พ.ศ.  2310  ในด้านการศึกษา  ทางวัดได้ให้ส่วนราชการสร้างโรงเรียนประถมศึกษา  และให้เอกชนสร้างโรงเรียนประถมศึกษาด้วยเช่นกัน


ประวัติความเป็นมาของวัด เป็นแต่เรื่องเล่ากันมาเป็นตำนานจะหาหลักฐานที่แน่นอนมิได้ไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง และกล่าวกันว่าไม่ใช่ท้าวเทพสตรี สร้างแน่นอน  วัดนี้คงเก่าแก่กว่านั้นแน่นอน  แต่จากเอกสารทั้งหมดของเมืองถลางที่มีปรากฏอยู่ที่ได้จากมหาวิทยาลัยลอนดอนนั้น ได้กล่าวชื่อวัดอยู่วัดหนึ่ง เขียนแบบเดิมว่า “ณ วัดน่าลาง” แต่ถ้าเขียนเป็นภาษาอ่านอย่างปัจจุบันจะเป็น “ณ วัดนาล้าง” หนังสือฉบับนี้ออกหลวงเพชรภักดีศรีภักดีศรีพิชัยสงครามยกกระบัตร มีไปถึงพระยาราชกปิตัน ว่า พระยาทุกขราช ว่า พระยาทุกขราชผู้ว่าราชการเมืองถลางสั่งมาว่าด้วยนายทองลีหลานท่านคุมเอาสิ่งของท่านพระยาราชกปิตันเข้าทูลเกล้าฯ ถวายมีตรารับสั่งตอบออกมา และให้เชิญท่านพระยาราชกปิตัน มาฟังตรารับสั่ง ณ วัดนาล้าง หนังสือออกมา ณ วันอาทิตย์เดือน 12 แรม 11 ค่ำ จุลศักราช 1147 ปีมะเส็ง นักบัตรสัปตศก (27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2328) วัดน่าลาง จะต้องเป็นวัดสำคัญที่สุดของเมืองถลางหรืออาจกล่าวว่าเป็น “วัดฉลอง” ก็ได้มิเช่นนั้น คงจะไม่นำหนังสือตรารับสั่ง ไปอ่านที่วัดนี้แน่นอน เพราะการอ่าน “ตรารับสั่ง” หรือหนังสือจากสมเด็จพระมหากษัตริย์จะต้องกระทำด้วยความเคารพ ในที่ที่ควรเคารพและอาจจะให้ท่านเจ้าอาวาสรับรู้เห็นเป็นสักขีพยานด้วยก็ได้ จึงเป็นปัญหาน่าคิดว่าวัดนี้จะเป็นวัดเดียวกับวัดพระนางสร้างหรือไม่

อีกประการหนึ่งคำว่า “น่าลาง”  น่าจะเป็น “หน้าถลาง” คือวัดหน้าเมืองถลางหรือชาวบ้านทั่วไป มักเรียกว่าวัดหน้าเมืองแต่ ในกรณีนี้อาจเรียกวัดหน้าเมืองถลาง วัดหน้าถลาง วัดหน้าลาง    น่าลาง อีกกรณีหนึ่งวัดนาในหรือวัดพระทอง ส่วนอีกวัดหนึ่งน่าจะเป็นวัดนาล่าง ต่อมาจึงเป็นวัดนางสร้าง วัดพระนาง
ข้อที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่ง คือหลังจากเมืองถลางต้องย่อยยับลงใน พ.ศ. 2352 นั้น พม่าได้กวาดต้อนผู้คนทรัพย์สินไปเป็นอันมาก  เมื่อพม่า ลงเรือไปแล้ว เมืองถลางคงเป็นเมืองร้างมาหลายปี พระสงฆ์กับชาวบ้านจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกัน เมื่อชาวบ้านไม่มีวัดก็เห็นจะต้องร้างไปพักหนึ่งแน่นอน เมื่อผู้คนอพอยกลับมาอยู่ตามเดิม ก็คงได้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ เข้าใจว่าพม่าคงจะต้องทำลายวัดด้วย เพราะค่ายเมืองถลางกับวัดพระนางสร้างอยู่ในบริเวณเดียวกัน เราก็คงทราบถึงความทารุณของทหารพม่าต่อพระสงฆ์วัดวาอารามมามาก ต่อมาเมื่อถามถึงวัดนี้ว่าใครเป็นคนสร้าง ผู้ที่อยู่ในวัดเห็นจะต้องผูกเป็นตำนานขึ้นมาเล่าสืบกันมาว่า ผู้สร้างวัดนี้คือ “พระนางเลือดขาว” ได้สร้างไว้ เล่ากันมาว่า พระนางเลือดขาวเป็นมเหสีของเจ้านคร ต่อมาพระนางถูกกล่าวหาว่ามีชู้ เจ้านครให้ฆ่าเสีย พระนางจึงขออนุญาตไปนมัสการพระบรมธาตุเมืองลังกา เจ้านครจึง อนุญาต ด้วยกุศลของพระนางจึงได้ไปถึงเมืองลังกาและได้กลับมา ปรากฏว่า ในนครเกิดแย่งชิงกันครองเมือง เจ้านครถูกฆ่าตายเจ้านครองค์ใหม่เมื่อทราบเรื่องเดิมจึงให้นำนางไปประหารชีวิตเมื่อเพชณฆาตลงดาบตัดศีรษะ ปรากฏว่าเลือดที่พุ่งออกมานั้นเป็นสีขาว เลยได้ชื่อว่า “พระนางเลือดขาว” ส่วนวัดพระนางสร้างนี้พระนางได้สร้างไว้ตอนขากลับจากเมืองลังกา


จากประวัติวัดพระนางสร้างในอนุสารพุทธศาสตร์ได้กล่าวถึงเจ้าอาวาสรูปหนึ่งคือ ท่านพระครูสุนทรสมณกิจ (เขม ชาโต)  หรือหลวงพ่อปอด ท่านเก่งทางการศึกษาเล่าเรียนและวิปัสสนาธุระท่านได้รวบรวมตำรายาแผนโบราณ และอื่น ๆ ไว้มาก และกล่าวกันว่าท่านมีความศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เกรงขามแก่ชาวเมืองถลางมาก นับเป็นวัดสำคัญและเก่าแก่วัดหนึ่งของจังหวัดภูเก็ต วัดนี้ตั้งอยู่ที่อำเภอถลาง ปัจจุบันมีท่านพระครูธรรมโกศลเป็นเจ้าอาวาส ชาวบ้านทั่วไปเรียกวัดนี้ว่า “วัดพระผุด” หรือวัดนาใน


วัดนี้มีตำนานเล่าสืบกันมาว่า มีชายหนุ่มคนหนึ่งนำควายไปเลี้ยงที่ทุ่งนาในตอนเช้าวันหนึ่งแล้วเอาเชือกล่ามควายผูกไว้ที่ตอกลางทุ่งนั้น ให้มีเหตุเป็นไปทั้งควาย และเจ้าของควาย ชาวบ้านจึงหาสาเหตุก็พบว่าตรง ที่ชายหนุ่มเอาเชือกล่ามควายไปผูกไว้นั้นมิใช่เป็นตอไม้แต่เป็นลักษณะเป็นยอดรัศมีของพระพุทธรูป ชาวบ้านจึงช่วยกันก่อสร้างพระพุทธรูปรวมไว้ แต่แค่พระทรวง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ แต่ครั้งดำรงพระยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ได้เสด็จทอดพระเนตรทรงกล่าวไว้ว่า เมื่อชายคนกลับกลับไปดูตอที่ผูกควายไว้ปรากฏว่าเป็นยอดรัศมีพระพุทธรูปจึงทำสักการะตามสมควร กระบือก็หายไข้ มีผู้ขุดลงไปพบพระเศียรพระ แล้วมีใจศรัทธา ก่อพระพุทธรูปรวมพระผุดนี้ก่อด้วยอิฐปูนมีแต่พระเศียรกับองค์พระเพียงพระทรวงเพื่อให้ดูเหมือนขุดมาจากพื้นดิน


อย่างไรก็ตามชาวจีนเคารพนับถือพระผุดมากถึงวันตรุษจีนวันกินเจ มักพากันไปนมัสการเป็นประจำ เพราะถือว่า พระผุดองค์นี้เป็นพระที่มาจากเมืองจีนแล้วมาผุดที่วัดนี้ โดยแท้จริงแล้ว พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระประธานในโบสถ์ แต่ปัจจุบันโบสถ์หลังนี้กำลังสร้างใหม่


ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช เมื่อ พ.ศ. 2493 ได้จัดพิธีทำน้ำอภิเษก ณ วัดนี้ ประธานทางพระสงฆ์ คือ พระวิสุทธิวงศาจารย์ (เพรา พุทธสโร) เจ้าคณะจังหวัดภูเก็ต ประธานในพิธีคือนายอุดม  บุญยประสพ ส่วนน้ำที่นำมาทำเป็นน้ำอภิเษกได้จากน้ำบนเขาโต๊ะแซะ และน้ำจากน้ำตกโตนไทร

นอกจากพระผุดแล้ว ทางวัดยังได้เก็บปืนใหญ่โบราณด้วย แต่เดิมมีเพียง 2 กระบอก ปัจจุบัน พบจากขุมเหมืองแถวบ้านดอนอีก 3 กระบอก นำมารวมไว้ และเจ้าอาวาสยังได้รวบรวมวัตถุโบราณเครื่องลายครามต่าง ๆเพื่อดำเนินการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ของวัดต่อไป


Thep Krasatti
Amphoe Thalang
Chang Wat Phuket 83110

Reviews (0)
No reviews yet.
0:00