วัดอินทรวิหาร
ตั้งอยู่ที่แยกบางขุนพรหม ถนนวิสุทธิกษัตริย์ เขตพระนคร วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายประมาณ พ.ศ. 2295 เดิมชื่อวัดบางขุนพรหม ซุ้มประตูทางเข้าวัด 3 ซุ้ม
วัดอินทรวิหาร เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา ตอนปลายราวปี พ.ศ. 2295 ชาวบ้านนิยมเรียกว่า "วัดไร่พริก" เพราะเป็นวัดที่ปลูกอยู่ใกล้สวนผักของชาวจีน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "วัดบางขุนพรหม" ตามชื่อของหมู่บ้าน ซึ่งมีขุนพรหมเป็นหัวหน้าหมู่บ้าน ต่อมาจึงถูกเรียกว่า "วัดอินทร์" หรือ "วัดอินทาราม" ตามนามของผู้ปฏิสังขรณ์ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้โปรดเกล้าฯ ให้คณะสงฆ์เปลี่ยนนามวัด เนื่องจากชื่อเดิมไปพ้องกับวัดอินทราม (ใต้) บางยี่เรือใต้ (ธนบุรี) จึงมีนามใหม่ว่า "วัดอินทรวิหาร" และยังคงใช้ชื่อนี้จนถึงปัจจุบัน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะจากวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง เมื่อวันที่ 22มีนาคม พ.ศ. 2543 จึงมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "วัดอินทรวิหาร พระอารามหลวง" ปัจจุบันวัดอินทรวิหารมีเนื้อที่ทั้งหมด 21 ไร่ 1 งาน 65 ตารางวา โดยพื้นที่ทางทิศเหนือติดถนนกรุงเกษม ทิศใต้ติดถนนวิสุทธิกษัตริย์ ทิศตะวันออกติดถนนเทเวศร์ซอย 1 และทิศตะวันตกติดถนนสามเสน สี่แยกบางขุนพรหม ซุ้มประตูทางเข้าวัดประกอบด้วย 3 ซุ้ม เป็นศิลปะทรงไทย เรือนยอดตรงกลางเป็นรูปพระมหาบุรุษ มหาภิเนษกรมณ์ ณ ฝั่งแม่น้ำอโนมา ด้านขวาเป็นรูปพระอินทร์ ด้านซ้ายเป็นรูปพระพรหม สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดได้แก่ "พระพุทธศรีอริยเมตไตรย" ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนขนาดใหญ่ สูง 32 เมตร กว้าง 10 เมตร 24 นิ้ว สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บนยอดเกศองค์หลวงพ่อโตบรรจุ พระบรมสารีริกธาตุ จากประเทศศรีลังกา ภายในพระอุโบสถประดับภาพจิตรกรรมผนัง เป็นภาพชีวประวัติของสมเด็จพระพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ส่วนด้านล่างพระอุโบสถเป็นพิพิธภัณฑ์ ของเก่า ศาลาการเปรียญประดิษฐานรูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) นอกจากนี้ยังมีมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง หอระฆังหลังคาทรงจัตุรมุข พระสังกัจจายน์ พระแม่กวนอิมอวโลกิเตศวร พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ต้นโพธิ์ไทย โพธิ์ลังกาและโพธิ์อินเดีย ซึ่งหาดูได้ยากในปัจจุบัน ที่ตั้ง : เลขที่ 144 ถนนวิสุทธิกษัตริย์ แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร สามารถเข้าชมได้ทุกวันโดยไม่เสียค่าธรรมเนียมในการเข้าชมแต่อย่างใด การเดินทางโดยรถประจำทางสาย 49,33,53,64,3,65,30,32 Blog
Banglamphu
Phra Nakhon
Bangkok 10200
Thailand