Amazing Thailand
Land of smiles

วัดพระงาม

วัดพระงาม จังหวัดพระนครศรีอยุธยาแห่งนี้ เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักท่องเที่ยวจากความสวยงามและบรรยากาศอันเข้มขลังในบริเวณซุ้มประตูวัดที่มีรากต้นโพธิ์ใหญ่เลื้อยพันปกคลุมมานานไม่ต่ำกว่าร้อยปี

“วัดพระงาม” หรือชื่อเดิมคือ วัดชะราม ตั้งอยู่บนเกาะนอกเมืองอยุธยาไม่ปรากฏหลักฐานทางเอกสารว่าสร้างขึ้นเมื่อไหร่ อย่างไร แต่จากหลักฐานการขุดแต่งทางโบราณคดีพบว่าวัดพระงามมีแผนผังเป็นแบบที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนต้นคือ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ขอบเขตของวัดกำหนดจากคูน้ำล้อมรอบทุกด้าน มีเจดีย์ประธานอยู่หน้าโบสถ์ ซึ่งสันนิษฐานว่า ถูกดัดแปลงมาจากวิหาร เจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมซ้อนอยู่บนฐานแปดเหลี่ยม เจดีย์องค์นี้มีร่องรอยของการพอกอีกชั้นหนึ่ง แต่ไม่ได้เปลี่ยนรูปทรงเจดีย์ ลักษณะของเจดีย์สามารถนำไปเปรียบเทียบกับเจดีย์ที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้นและสืบต่อมาถึงอยุธยาตอนปลาย ส่วนโบสถ์เป็นอาคารยกพื้นมีฐานรอบอาคาร มีร่องรอยการสร้างทับอาคารเดิม จากการขุดแต่งและขุดค้นพบโบราณวัตถุจำนวนมาก เช่น ส่วนประกอบสถาปัตยกรรมประเภทดินเผาปูนปั้น และโลหะ กระเบื้องมุงหลังคา ลวดลายปูนปั้นรูปนาค เทวดา เทพนม ตะปูจีน ฯลฯ ส่วนประเภทรูปเคารพทางศาสนาพบส่วนหน้าตักของพระประธาน พระพุทธรูปสำริดทรงเครื่องปางสมาธิ

นอกจากนี้ยังพบเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น สิ่ว ผอบ หม้อก้นกลม เศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งจากแหล่งเตาบ้านบางปูน เตาแม่น้ำน้อย เตาศรีสัชนาลัย เตาสุโขทัยภาชนะดินเผาต่างประเทศที่พบมีเครื่องถ้วยจีน สมัยราชวงศ์หยวนและราชวงศ์หมิง เครื่องถ้วยเวียดนามและญี่ปุ่น จากโบราณวัตถุที่พบทั้งหมดและลักษณะรูปแบบทางสถาปัตยกรรม สามารถกำหนดอายุได้ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ปลายพุทธศตวรรษที่ 19-20 ลงมาถึงอยุธยาตอนปลาย พุทธศตวรรษที่ 23-24 พบร่องรอยการบูรณะหลายครั้ง และน่าจะถูกทิ้งร้างไปหลังช่วงกรุงศรี ฯ แตกครั้งที่สอง ในปี 2310

จุดเด่นของวัดนี้คือ ประตูแห่งกาลเวลา ซุ้มประตูวัดที่ปรากฏรากของต้นโพธิ์ใหญ่ซึ่งเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาพุทธ อายุไม่ต่ำกว่า100 ปี เลื้อยพันปกคลุมอยู่โดยรอบซุ้มประตู ส่วนลำต้นก็เจริญเติบโตสูงขึ้นไปด้านบนซุ้มประแลดูคล้ายหลังคาโดมขนาดใหญ่ แต่เป็นหลังคาที่มองแล้วร่มรื่นสบายตาเหลือเกิน ยิ่งผนวกกับช่วงเวลายามอาทิตย์อัสดง แสงอาทิตย์ที่คล้อยลงต่ำค่อย ๆ ลอดผ่านซุ้มประตูออกมาช้า ๆ เพิ่มความเข้มขลังให้บรรยากาศรอบ ๆ จนดูเหมือนกับเชิญชวนให้เราก้าวเข้าไปผ่ามิติสู่อดีต อย่างไรอย่างนั้น เป็นบรรยากาศที่สวยงาม น่าประทับใจมาก สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเข้าชมแสงลอดซุ้มประตูแห่งกาลเวลา ที่วัดพระรามนี้คือเวลา 17.00น.เป็นต้นไปจนกว่าฟ้าจะมืด หรือช่วงเช้าตรู่หลังพระอาทิตย์ขึ้นก็ย่อมได้ และในช่วงเดือน ตุลาคม – พฤศจิกายน ในวันที่มีฝนตกอาจจะมีหมอกจาง ๆ เพิ่มบรรยากาศด้วย 

เมื่อเดินลอดประตูแห่งกาลเวลาเข้าไปภายในบริเวณวัดจะพบกับเจดีย์แปดเหลี่ยมซึ่งเป็นเจดีย์ประธานตามแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา  พระอุโบสถและหลวงพ่อวัดพระงามให้กราบสักการะ โดยดอกไม้บูชาพระของที่นี่จะจัดเป็นช่อขนาดประมาณฝ่ามือ ใช้ดอกไม้สดดูสดชื่นสวยงาม สามารถบูชาได้ตามกำลังศรัทธา










Moo 1
Ban Phra Ngam
Tambon Bang Duea
Amphoe Bang Pahan
Phra Nakhon Si Ayutthaya
13220
13220

Reviews (0)
No reviews yet.
0:00