Amazing Thailand
Land of smiles

Bangkok MRT (Underground)

รถไฟฟ้ามหานครหรือรถไฟฟ้า MRT เป็นบริการขนส่งที่ได้รับความนิยมมากอีกอย่างหนึ่งในกรุงเทพ ทั้งนี้ก็เพราะว่า สามารถอำนวยความสะดวกในการเดินทางในกรุงเทพได้เป็นอย่างดี ไม่จำเป็นต้องเบื่อกับการรถติดเป็นชั่วโมง ๆ อีกต่อไป

สำหรับคนที่ยังไม่เคยใช้บริการรถไฟฟ้า MRT เลยก็ไม่ต้องวิตกกังวลไป เพราะไม่ได้ต่างอะไรจากรถไฟฟ้า BTS มากนัก จะต่างกันก็ตรงที่เปลี่ยนจากบัตรเป็น "ชิพ หรือ เหรียญโดยสาร (Token)" แทน ซึ่งวิธีการเข้าออกก็จะไม่เหมือนกันแค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่หากยังวิตกกังวลกับขั้นตอนการใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินนี้อยู่ ก็อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมด้านล่างได้เลย

การโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินนั้น หากต้องการเดินทางเที่ยวเดียวก็ให้ใช้เหรียญโดยสาร (Token) แต่ถ้าเป็นคนที่ ต้องการใช้บริการ MRT บ่อย ๆ ก็ให้ใช้บัตรโดยสาร (เติมเงิน) แทน เพราะค่าใช้จ่ายในแต่ละเที่ยวจะถูกลง อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ชนิดของตั๋วโดยสาร MRT

ขั้นตอนการใช้งานรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT

1. หากจะใช้บริการรถไฟฟ้า MRT สิ่งแรกที่จะต้องทำก็คือ เดินลงไปที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินก่อน (โดยทั่วไปบริเวณทางลงจะมีบันไดพร้อมซุ้มสีน้ำเงินครอบอยู่)

* ช่วงก่อนทางลง มักจะมีการตรวจกระเป๋าอยู่เสมอ ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารในด้านส่วนรวม ดังนั้นเราก็ควรให้ความร่วมมือในการตรวจสอบทุกครั้ง

2. เมื่อลงมาถึงบริเวณห้องออกบัตรโดยสาร เราจะสามารถซื้อบัตรโดยสารได้ 2 วิธี คือ เดินเข้าไปซื้อกับพนักงานที่ช่องขายบัตร กับซื้อจากเครื่องขายบัตรอัตโนมัติ

* ในกรณีที่เรายังเป็นมือใหม่สำหรับการใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินละก็ แนะนำให้ซื้อกับพนักงานดีกว่า เพราะแค่เดินเข้าไปบอกเค้าว่าปลายทางคือที่ไหน จากนั้นก็จ่ายเงิน เราก็จะได้เหรียญเดินทางสำหรับการเดินทางเที่ยวนี้ข้อเสียอย่างเดียวของการซื้อกับเจ้าหน้าที่ก็คือ อาจจะต้องรอคิวในกรณีที่คนเยอะ (ถ้าเป็นช่วงเวลาปกติก็ไม่เยอะหรอก)

* กรณีเครื่องขายบัตรโดยสาร สำหรับคนที่อยากลองซื้อบัตรโดยสารกับเครื่องก็ทำได้ไม่ยาก ตามลำดับดังนี้

> เลือกสถานีปลายทาง โดยการกดไปที่หน้าจอ (จอแสดงผลเป็นแบบทัชสกรีน)

> ชำระค่าบัตรโดยสาร เครื่องสามารถรับเงินได้ทั้งเหรียญและแบงค์ ทำให้สะดวกในการจ่ายเงิน

> รับเหรียญโดยสารหรือชิพ จากช่องรับ และรับเงินทอนจากหากคุณจ่ายเงินเกินราคากำหนด

3. บริเวณประตูกั้น (สำหรับรถไฟฟ้าใต้ดินจะง่ายหน่อยเพราะที่กั้นสำหรับทางเข้ากับทางออกจะอยู่คนละด้านกัน ซึ่งทางเข้าก็จะอยู่ทางฝั่งห้องขายบัตรโดยสารอยู่แล้ว) ให้ใช้เหรียญโดยสารมาสัมผัสกับพื้นที่ที่คล้ายรูปบัตรที่อยู่ด้านหน้า ประตูก็จะเปิด แต่ว่าพอเปิดแล้วก็ให้เราเดินเข้าไปด้านในเลย เพราะเห็นว่าประตูจะเปิดให้เพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น

4. เมื่อเข้ามาด้านในแล้วก็ให้เดินลงไปด้านล่างอีกหนึ่งชั้น เมื่อเดินลงมาแล้วจะพบว่าด้านล่างเป็นชานชาลาสำหรับรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งในขณะที่รถยังไม่มาก็จะมีกระจกกั้นไว้ทั้งสองด้าน พอรถมาประตกระจกจะเปิดออก อย่างไรก็ตามที่พื้นของบริเวณทางเข้ารถไฟจะมีลูกศรบอกว่าคนจะเข้าให้ยืนตรงไหน ซึ่งที่จริงก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการอย่ายืนขวางประตูเวลาคนลงจากรถไฟฟ้าใต้ดินนั่นเอง (ก่อนรถไฟมาที่จอทีวีจะมีบอกว่าอีกกี่นาทีรถไฟใต้ดินคันถัดไปจะมา)

5. ภายในรถไฟฟ้าใต้ดินก็เหมือนกับรถไฟฟ้า BTS คือมีที่นั่งสองฝั่ง มีพื้นที่สำหรับคนยืนและมีราวจับยึด เพื่อความมั่นคงเวลาที่รถไฟเคลื่อนที่ ในการเดินทางจะมีเสียงบอกว่าสถานีถัดไปคือสถานีอะไร และบริเวณด้านบนประตู ยังมีแผนผังเส้นทาง สำหรับบอกว่าสถานีมีอะไรบ้าง ผู้ใช้จะได้เช็คได้ตลอดเวลา แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ ในขณะที่รถไฟฟ้ากำลังวิ่งอยู่ระหว่างสถานีนั้น นอกรถไฟใต้ดินจะมืด ไม่มีทิวทัศน์ให้ดูเหมือนรถไฟฟ้าด้านบน

6. เมื่อเดินออกจากรถไฟมาแล้ว ดูให้แน่ก่อนว่าเป็นสถานีปลายทางที่เราต้องการหรือไม่ ซึ่งถ้าเกิดไม่ใช่ ตอนนี้เราจะยังสามารถโดยสารรถไฟฟ้าขบวนถัดไปได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม เพราะยังไม่ได้ออกจากสถานี (กรณีนั่งมาผิดทางก็เปลี่ยนฝั่งเพื่อเดินทางอีกด้านนึงก็ได้) เมื่อเราดูแน่ใจแล้วว่าสถานีนี้เป็นสถานีปลายทางของเรา ก็เดินขึ้นด้านบนเพื่อออกจากสถานี แต่ก่อนจะเดินออก แนะนำให้ดูแผนผังก่อน ว่าออกทางไหนจะสะดวกกับธุระของเรามากที่สุด จะได้ไม่ต้องเดินอ้อมกลับมา

7. เมื่อมาถึงที่กั้นประตูทางออก ตอนนี้จะต่างกับตอนแรกนิดนึงตรงที่ว่า เราจะต้องหยอดเหรียญโดยสารลงไปในช่อง (ซึ่งตอนเข้ามาเราแค่แตะไม่ได้หยอด) แล้วเครื่องก็จะริบเหรียญโดยสารคืนกลับไป พร้อมกับเปิดที่กั้นทางออกให้ หากว่าเกิดปัญหาที่กั้นไม่เปิดให ้ก็ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ที่อยู่บริเวณนั้นได้เลย

8. จากนั้นก็เดินออกมายังทางออกที่เราต้องการ เพียงเท่านี้การเดินทางโดยรถไฟฟ้าใต้ดินก็สำเร็จโดยสวัสดิภาพแล้ว

โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน)

ระยะทางรวม 48 กม. 38 สถานี ประกอบไปด้วย

ช่วงหัวลำโพง - บางซื่อ ระยะทาง 20 กม. 18 สถานี ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศไทย

ช่วงหัวลำโพง - บางแค ระยะทางประมาณ 16 กม. 11 สถานี เป็นโครงสร้างทางวิ่งผสมทั้งใต้ดินและยกระดับ

ช่วงบางซื่อ - ท่าพระ ระยะทางประมาณ 12 กม. 9 สถานี เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับตลอดสาย

เวลาให้บริการ

ทุกวันไม่มีวันหยุด ตั้งแต่เวลา 06:00 - 24:00 น.

ความถี่ ชั่วโมงปกติความถี่ไม่เกิน 7 นาทีต่อขบวน

ความถี่ ชั่วโมงเร่งด่วนเวลา 07:00–09:00 น. และ 16:30-19:30 น.

ความถี่ไม่เกิน 4 นาทีต่อขบวน

จำนวนรถไฟฟ้า MRT วิ่งบริการสูงสุด 54 ขบวน


โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สถานีคลองบางไผ่ – สถานีเตาปูน) (สายสีม่วง) มีเส้นทางการเดินรถรวมระยะทาง 23 กิโลเมตร เป็นสถานียกระดับทั้งหมด 16 สถานี

เริ่มจากบริเวณคลองบางไผ่ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า ถนนวงแหวนรอบนอก (ตะวันตก) กาญจนาภิเษก เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนรัตนาธิเบศร์ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้สะพานพระนั่งเกล้า ก่อนถึงสี่แยกแครายจะเลี้ยวขวาไปตามถนนติวานนท์ เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนกรุงเทพ - นนทบุรี ถึงบริเวณแยกเตาปูน มีสถานีเตาปูนเป็นสถานีเชื่อมต่อกับสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย โดยสามารถเปลี่ยนเส้นทางจากสายสีม่วงไปสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายได้ที่สถานีเตาปูน

เวลาให้บริการ

วันจันทร์ - วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 05:30 - 24:00 น.

วันเสาร์ - วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 06:00 - 24:00 น.

ความถี่ ชั่วโมงปกติความถี่ไม่เกิน 9 นาทีต่อขบวน

ความถี่ ชั่วโมงเร่งด่วนเวลา 06:30 – 08.30 น. และ 17.00 - 19:30 น.

ความถี่ไม่เกิน 6 นาทีต่อขบวน

จำนวนรถไฟฟ้า MRT วิ่งบริการสูงสุด 21 ขบวน




Reviews (0)
No reviews yet.
0:00