หมู่บ้านโปรตุเกส (Portuguese Settlement)
หมู่บ้านโปรตุเกสอยุธยา นั้นถือว่าเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองในอดีตของอยุธยาในการค้าขายติดต่อกับชาวต่างชาติหลายๆสัญชาติ และชาวโปรตุเกสก็เป็นชาวยุโรปชาติแรกที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยามาตั้งแต่เมื่อปีพ.ศ.2504 โดยอัลฟองโซ เดอ อัลบูเคอร์ก ผู้สำเร็จราชการของโปรตุเกสประจำเอเชีย ได้ส่งนายดูอาร์เต้ เฟอร์นันเดส เป็นทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยาและทำสนธิสัญญากันในปี 2059ถือเป็นสนธิสัญญาฉบับแรกที่ไทยทำกับชาติตะวันตก ซึ่งในสมัยอยุธยานั้นชาวโปรตุเกสไม่เพียงแต่มาค้าขายในประเทศสยามเท่านั้น แต่ยังได้มาเป็นทหารอาสาสมัครในกองทัพของกรุงศรีอยุธยาอีกด้วย
นอกจากนี้ก็ยังได้มีการสร้างโบสถ์เพื่อที่จะเป็นการเผยแพร่ศาสนารวมทั้งเป็นศูนย์กลางของชุมชน และโบสถ์แห่งแรกที่สร้างในประเทศสยามก็คือ โบสถ์เซนต์โดมินิค ที่เรียกกันในสมัยก่อนนี้สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.2083 หรือปัจจุบันก็คือโบราณสถานซานเปรโตร ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังมีร่องรอยของสิ่งก่อสร้างหลงเหลืออยู่ โดยตัวอาคารได้จัดแบ่งออกเป็นสามส่วนดังนี้
ส่วนที่เป็นสุสานด้านหน้าของชาวคาทอลิคคณะโดมินิกัน ในส่วนกลางใช้เป็นที่สำหรับประกอบพิธีทางศาสนาและฝังศพของบาทหลวง ส่วนในด้านหลังกับด้านข้างนั้นเป็นที่พักอาศัยและในบริเวณนี้ยังได้มีการค้นพบเครื่องประกอบพิธีทางศาสนาอย่างเช่น ลูกประคำ เหรียญรูปเคารพในศาสนาและไม้กางเขน และเมื่อมีการขุดค้นไปอีกก็ได้พบโบราณวัตถุที่สำคัญต่างๆอย่างเช่น เหรียญกษาปณ์ เครื่องปั้นดินเผา กล้องยาสูบ เครื่องประดับกำไลแก้ว และพบกับโครงกระดูกของมนุษย์
โครงกระดูกของมนุษย์ที่ค้นพบในสุสานนั้นมีจำนวนมากมายถึง254โครงกระดูกเลยทีเดียว และมีการฝังอย่างเป็นระเบียบมีทั้งที่ฝังภายในอาคารและฝังนอกตัวอาคารวางทับซ้อนเรียงรายกันอย่างหนาแน่นและจากการศึกษาจากแนวเขตการวางของแนวกระดูกที่พบเหล่านี้ทำให้คาดการณ์ได้ว่า เขตของสุสานนั้นได้แบ่งออกเป็นสามส่วน โดยในส่วนในสุดของกลางตัวอาคารที่เป็นฐานโบสถ์นั้น คาดกันว่าอาจเป็นโครงกระดูกของนักบวชหรือบาทหลวงและส่วนที่สองก็คาดว่าน่าจะเป็นผู้ที่มีฐานะทางสังคมสูง และในส่วนสุดท้ายส่วนที่สามที่อยู่นอกแนวของฐานโบสถ์โดยเฉพาะในส่วนนี้ที่มีการฝังศพทับซ้อนกันมากถึง3-4โครง ซึ่งจากการศึกษาตามประวัติศาสตร์อาจจะเกี่ยวเนื่องจากได้เกิดโรคระบาดขึ้นในปีพ.ศ.2239และในปีพ.ศ.2255ซึ่งทำให้มีผู้คนได้เจ็บป่วยล้มตายลงมากเป็นเหตุให้สุสานต้องขยายออกมาอีก ปัจจุบันเหลือแต่ฐานก่ออิฐเป็นโครงเหลือให้เห็นเท่านั้น
ชาวโปรตุเกสได้รับพระบรมราชานุญาตให้ตั้งถิ่นฐานที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกทางด้านใต้ของเกาะเมือง ซึ่งน่าจะถือได้ว่าเป็นชุมชนชาวตะวันตกที่ใหญ่ที่สุดในกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีอายุยืนนานถึง 227 ปี จนพม่ามาตีเมืองจึงถึงกาลสิ้นสุดลงพร้อม ๆ กับการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา และปัจจุบันบริเวณหมู่บ้านยังมีสักการะสถานเล็กๆที่มีรูปปั้นนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโลด้วย
Phra Nakhon Si Ayutthaya District
Phra Nakhon Si Ayutthaya