วัดภูเขาทอง
วัดภูเขาทอง เป็นวัดโบราณในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระราเมศวร เมื่อ พ.ศ. 1930 มีเจดีย์ใหญ่ที่ชื่อว่า เจดีย์ภูเขาทอง
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ห่างจากพระราชวังหลวงไปประมาณ 2 กิโลเมตร สามารถใช้เส้นทางเดียวกับทางไปจังหวัดอ่างทอง ทางหลวงหมายเลข 309 กิโลเมตรที่ 26
แม้จะเป็นพุทธสถาน แต่วัดภูเขาทองยังเป็นชัยภูมิที่มีบทบาทสำคัญในสงครามไทย-พม่าที่ทำให้กรุงแตกทั้ง 2 ครั้ง โดยวัดได้ชื่อตามมหาเจดีย์ภูเขาทองที่มีความสูงถึง 90 เมตร ตามพระราชพงศาวดารอยุธยากล่าวไว้ว่า วัดภูเขาทอง สถาปนาในรัชสมัยพระราเมศวร สมัยอยุธยาตอนต้นในสงครามที่พระเจ้าบุเรงนองแห่งพม่ามีชัยเหนืออยุธยาเมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ 1 ใน พ.ศ. 2112 พระเจ้าบุเรงนองจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์แบบมอญผสมพม่าก่อทับองค์เจดีย์เดิมของวัดแห่งนี้ เป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะเหนือทัพไทยเอาไว้ แต่สันนิษฐานว่าคงสร้างได้แต่ส่วนฐานทักษิณส่วนล่างแล้วยกทัพกลับ จากนั้นเมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงกอบกู้เอกราชกลับคืนมาได้ใน พ.ศ. 2127 จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์แบบไทยไว้เหนือฐานแบบมอญและพม่า จึงมีสถาปัตยกรรมหลายแบบผสมผสานกันอยู่ แต่เจดีย์ภูเขาทองที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน สันนิษฐานว่าได้รับการบูรณะให้สูงใหญ่ในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาถึงสมัยพระเพทราชา ระหว่าง พ.ศ. 2112-2246 ก่อนจะบูรณะใหญ่อีกครั้งสมัยพระเจ้าบรมโกศ ซึ่งเป็นช่วงอยุธยาตอนปลายแล้ว โดยปฏิสังขรณ์เป็นฐานทักษิณ 4 ชั้น รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีบันไดทั้ง 4 ด้านขึ้นไปจนถึงฐานทักษิณชั้นบนสุด ซึ่งมีฐานสี่เหลี่ยมขององค์เจดีย์ที่มีอุโมงค์รูปโค้งเข้าไปข้างใน ประดิษฐานพระพุทธรูป 1 องค์ เหนือขึ้นไปเป็นฐานแปดเหลี่ยมองค์ระฆังและบัลลังก์ และเหนือขึ้นไปอีกคือปล้องไฉน ปลียอด และลูกแก้ว ซึ่งพังทลายในสมัยต้นรัตนโกสินทร์แต่ซ่อมแซมขึ้นใหม่ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม พ.ศ. 2499 โดยทำลูกแก้วทองคำหนัก 2,500 กรัม เป็นสัญลักษณ์การบูรณะในวาระครบ 25 พุทธศตวรรษช่วงสงครามก่อนกรุงแตกครั้งแรก มีการขุดคลองมหานาคเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญระหว่างพระนครด้านแม่น้ำลพบุรีกับวัดภูเขาทอง ส่วนเขตพุทธาวาสเดิมยังหลงเหลือแนวกำแพงแก้วล้อมรอบ 688 เมตร ภายในประกอบไปด้วยวิหารขนาดเล็ก อุโบสถใหญ่ด้านหน้ามีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง 4 องค์ ทว่าหลังกรุงแตกครั้งที่ 2 วัดภูเขาก็กลับกลายเป็นวัดร้างเช่นเดียวกับทั้งกรุงศรีอยุธยา แต่ยังมีผู้คนจากทุกแห่งหนเดินทางมาสักการะพระมหาเจดีย์อยู่เช่นเดิม ดังปรากฎในนิราศภูเขาทองของสุนทรภู่ในสมัยรัชกาลที่ 3 จนมาถึง พ.ศ. 2500 จึงได้มีพระสงฆ์มาจำพรรษาที่วัดนี้อีกครั้ง กรมศิลปากรได้สร้างอนุสาวรีย์พระนเรศวรทรงม้าศึกกลางถนนทางเข้าวัดเพื่อเทิดพระเกียรติกษัตริย์นักรบผู้กอบกู้เอกราชไว้ด้วย เปิดให้เข้านมัสการทุกวัน เวลา 08.30-17.00 น.
Phra Nakhon Si Ayutthaya District
Phra Nakhon Si Ayutthaya 13000