พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี
พิพิธภัณฑ์และบ้านเรือที่มีเอกลักษณ์ที่สุดของไทย
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี เดิมเป็นโรงเก็บเรือรบและเรือพระที่นั่ง อยู่ในความดูแลของสำนักพระราชวังและกองทัพเรือ เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงเก็บเรือและเรือพระราชพิธี ถูกระเบิดได้รับความเสียหาย ในปี พ.ศ.2490 รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้ กรมศิลปากร ทำการซ่อมแซมดูแลรักษาเรือพระราชพิธีที่ใช้ในกระบวนพยุหยาตราชลมารค รวมทั้งเรืออื่นๆ ที่ใช้ในพระราชพิธี ซึ่งล้วนแต่เป็นเรือที่มีประวัติความสำคัญมาแต่โบราณ ซึ่งยังคงความสวยงามจากฝีมือช่างอันล้ำเลิศ และทรงคุณค่าในงานศิลปกรรม ประการสำคัญ คือ ยังสามารถนำมาใช้ในการพระราชพิธีต่างๆ สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นเรือพระที่นั่งในพระมหากษัตริย์ไทยที่มีแห่งเดียวในโลก
ด้วยพื้นที่จำกัด ภายในพิพิธภัณฑ์ จึงจัดแสดงเรือพระราชพิธีได้เพียง 8 ลำ จากเรือพระราชพิธีในกระบวนพยุหยาตราชลมารค จำนวน 52 ลำ อาทิ
เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9
เรือพระที่นั่งสุพรรณหงษ์
เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช
เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชชงค์
เรือรูปสัตว์ 6 ลำ นำไปฝากไว้ที่ท่าวาสุกรี
เรือดั้งและเรือแซง จำนวน 38 ลำ เก็บรักษาไว้ที่แผนกเรือพระราชพิธี กองเรือเล็ก กองทัพเรือ
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี มีจำนวน 2 อาคาร ได้แก่
อาคารสำนักงาน
อาคารจัดแสดงเรือพระราชพิธี จัดแสดงโขนเรือนารายณ์ทรงสุบรรณเก่า ซึ่งเป็นต้นแบบเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ประกอบในพระราชพิธีชลมารค
นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการที่จะให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ประกอบสำคัญของกระบวนเรือพระราชพิธี ความสำคัญและอื่นๆ ผู้สนใจสามารถมาเยี่ยมชมศึกษาได้ทั้งทางเรือ (ทางน้ำ) ทางบก (ทางรถยนต์) หรือเลือกศึกษาข้อมูลนิทรรศการ สื่อ สภาพแวดล้อมจริงของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี จากพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง Virtual Museum เพียงท่านคลิกที่ภาพที่ปรากฏ หรือใช้โปรแกรมอ่านสัญลักษณ์ QR Code ก็จะได้เห็นสื่อที่นำเสนอภาพจริง และองค์ความรู้ที่จะทำให้ท่านเข้าใจในเรือพระราชพิธีมากยิ่งขึ้น
ที่อยู่: 80/1 ถนนอรุณอัมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ
ค่าเข้าชม
คนไทย 20 บาท
ชาวต่างประเทศ 100 บาท
บัตรรวม คนไทย 60 บาท ชาวต่างประเทศ 350 บาท (บัตรรวม สามารถเข้าชม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี , พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์)
สำหรับนักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ พระภิกษุสามเณร และนักบวชในศาสนาต่างๆ เข้าชมโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม
การเดินทาง
รถโดยสารประจำทางสาย 19, 57, 79, 80, 81, 91, 127, 146, 149
นั่งเรือข้ามฟาก จากสถานีรถไฟบางกอกน้อย
วันและเวลาทำการ
ทุกวัน เวลา 9.00-17.00 น. ปิดวันขึ้นปีใหม่และวันสงกรานต์
Bangkok Noi
Bangkok 10700
Thailand